บทความโดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/mba/20090906/74755/ฟู้ด-สไตลิสต์-โชว์ดีไซน์-บนจานเด็ด.html
หากเอ๋ยชื่อ "พี่ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ" หรือ "ขาบ สตูดิโอ" (Karb Studio) ย่อมเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในแวดวงธุรกิจอาหารและคนทำงานศิลปะ
เพราะเขาคือผู้บุกเบิกอาชีพฟู้ด สไตลิสต์ (Food Stylist)ในบ้านเรา
โดยเขาได้นิยาม ฟู้ด สไตลิสต์ ว่าเป็นอาชีพที่คลุกเคล้าระหว่างการปรุงอาหารกับงานศิลปะได้อย่างลงตัว
"ฟู้ด สไตลิสต์ คือ เบื้องหลังที่ทำให้อาหารน่ารับประทาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร ทำให้คนดูพอใจ คนรับประทานก็พอใจ"
เจ้าของขาบสตูดิโอ บอกว่า อาชีพฟู้ดสไตลิสต์ถือว่าเป็นอีกแขนงหนึ่งในงานดีไซน์ เพียงแต่เราเลือกยืนอยู่ในส่วนของดีไซน์อาหาร ซึ่งพูดได้เลยว่าเป็นอาชีพที่ใหม่มากในบ้านเรา ยังรอเด็กรุ่นใหม่ๆ ก้าวเข้ามา ยิ่งหากพิจารณาจากลิสต์อาหารที่วางขายบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่ามีน้อยกว่า 5% ที่เป็นแบรนด์ไทย ที่มีสวยงามได้มาตรฐานสากล
"โอกาสในอาชีพ ฟู้ดสไตลิสต์ มีอยู่อีกเยอะมาก เพียงแต่ตอนนี้ ยังไม่เป็นอาชีพที่ชัดเจนมากนัก และคนที่ยึดอาชีพนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ทำงานศิลปะมาก่อน ไม่มีพื้นฐานด้านงานครัว จึงไม่สามารถต่อยอดงานออกไปในระดับกว้างได้"
พี่ขาบ บอกอีกว่า น้องๆ ที่สนใจจะก้าวเข้ามาเป็นเป็นฟู้ด สไตลิสต์ ที่ดีและประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีประสบการณ์หรือมีพื้นฐานในครัวมาก่อน เพราะจะทำให้เข้าใจระบบการปรุงอาหาร เทคนิคงานในครัว รู้ว่าปรุงอาหารออกมาแล้วหน้าตาเป็นอย่างไร ได้รสชาติอย่างไร
"น้องๆ ที่จะก้าวเข้ามาเป็นฟู้ด สไตลิสต์ได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ ทำอาหารได้จริง รสชาติอร่อย ถูกสุขลักษณะมีคุณค่าทางโภชนาการ และหัวศิลป์"
ส่วนจุดเริ่มต้นในอาชีพฟู้ด สไตลิสต์ของพี่ขาบนั้น เกิดจากความชอบและการสั่งสมประสบการในวัยเยาว์
"พี่ไม่ได้เรียนทำอาหาร หรือศิลปะโดยตรง แต่พื้นฐานครอบครัว ทำธุรกิจซื้อขายพืชไร่ ทำให้ได้เห็นวงจรของวัตถุดิบ เข้าใจโครงสร้างของวัตถุดิบที่ดี ว่าช่วงไหนพืชออกดอกออกผล ฤดูไหนให้ผลผลิตดีที่สุด และที่บ้านทำร้านอาหารด้วย เป็นคนชอบปรุงอาหารเป็นทุนเดิม ประกอบกับชื่นชอบศิลปะ จึงพยายามมองจะมองหาความสวยจากการปรุงอาหาร"
พี่ขาบ เล่าย้อนกลับไปในสมัยเรียนมัธยม เมื่อเข้าร้านหนังสือจะตรงดิ่งไปยังมุมแมกกาซีนอาหารหัวนอก เปิดมองดูภาพ แล้วคิดต่อว่าทำไมภาพจานอาหารนั้นถึงได้ดูสวย หรือแม้กระทั่งสังเกตในวีซีดีคุ้กกิ้งโชว์ และทุกครั้งที่ดูแมกกาซีนและวีซีดีเหล่านี้ ก็จะกลับมาดูที่เครดิตท้ายรายการ ทำให้ได้เห็นว่ามีอาชีพฟู้ด สไตลิสต์ อยู่บนโลกในนี้ด้วย
"เราก็อ๋อ มีอาชีพนี้ด้วยเหรอ พอโตมาหน่อยได้มีโอกาสไปเรียนศิลปะกับ ครูโต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ซึ่งพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าเป็นคนจุดประกายอาชีพฟู้ดสไตลิสต์ให้กับพี่ ด้วยการถ่ายทอดวิธีคิด มุมมอง ทำให้เห็นว่าฟู้ดสไตลิสต์ สามารถยึดเป็นอาชีพได้ หากจริงจังก็จะขยายฐานองค์ความรู้ได้ และที่สำคัญคือเมืองไทยยังไม่มีใครทำ"
เมื่อมั่นใจว่าในเส้นทางอาชีพ พี่ขาบจึงก้าวเดินตามสเต็ปที่วางไว้ จึงเสาะหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม การเดินทางไปดูวัตถุดิบตามที่ต่างๆ ศึกษาเทรนด์งานดีไซน์เพิ่มเติม แล้วเริ่มก้าวแรกที่การเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ คอลัมน์อาหาร
"ประสบการณ์ในครัว บวกความชอบงานศิลปะ รวมถึงการเสาะหาเทรนด์ดีไซน์จากทั่วโลก สามารถนำความรู้ทั้งหมดมาประยุกต์ใช้กับงาน เมื่อภาพออกไปสู่ผู้อ่าน ทำให้ได้รับคำชม"
สเต็ปต่อไป คือการเปิดตัวคุ้กบุ๊คของตนเอง โดย 3 ใน 4 เล่มที่พี่ขาบเขียนออกมานั้น ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ
เมื่อหนังสือได้รับรางวัล สร้างชื่อในฐานะฟู้ดสไตลิสต์ จึงก้าวมาสู่ อีเว้นท์ คุ้กกิ้ง โชว์ ในงานเปิดตัวสินค้าต่างๆ ซึ่งเจ้าของงานเลือกเราไปโชว์ เพราะเชื่อว่าจะทำให้หน้าตาอาหารดูน่าสนใจ และทำให้โชว์เป็นจุดสนใจ
ความสำเร็จที่สั่งสม สามารถผลักดันให้เกิด ขาบ สตูดิโอ (Karb Studio) ได้ในที่สุด
"การเปิดสตูดิโอ เกิดขึ้นหลังจากที่เราทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง ลูกค้าอยากให้เราทำให้ทุกอย่าง แต่ตั้งคัดสรรวัตถุดิบ ไปจนถึงการออกแบบแพคเกจจิ้ง'"
ขั้นตอนการทำงานของพี่ขาบ คือลงไปวิเคราะห์ ตั้งแต่วัตถุดิบ ต้องดูว่าพืชผักต้องจับคู่กับเนื้ออะไร แบบไหน คู่สีเป็นอย่างไร จะเข้ากันหรือไม่ หรือสีตัดกันหรือไม่ ทำออกมาแล้วหน้าตาเป็นอย่างไร และที่สำคัญอร่อยหรือไม่
"สไตล์ของพี่ จะไม่เน้นพร็อบ พี่มองว่าความเรียบง่ายคือความสวยที่ยั่งยืน จึงผสมผสานผักและเนื้อ ที่มีสีต่างกัน เพื่อขับให้จานอาหารดูโดดเด่น หรือการจับคู่อาหารกับจานก็สำคัญ เช่น หากเป็นอาหารตุ่น จะให้สีน้ำตาล จึงเลือกจับคู่กับจานสีฟ้า เพราะมีคู่สีที่ตัดกัน เมื่อถ่ายรูปออกมาก็จะดูสวย ภาชนะที่พี่เลือกใช้จะไม่มีลวดลายกราฟฟิค เพราะจะทำให้อาหารไม่โดดเด่น"
การออกแบบแพคเกจจิ้งก็เช่นเดียวกัน ไม่เน้นกราฟฟิค แต่เน้นรูปอาหาร กราฟฟิคอื่นๆ ที่เพิ่มเข้าไปบนแพคเกจจิ้ง คือตัวเสริมเท่านั้น
จากที่เคยถูกเชิญไปเป็นวิทยากรให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหาร ก็เลื่อนขั้นไปสู่การร่วมพัฒนาสินค้า
"พี่ไปทำงานกับฝ่าย R&D ของแต่ละบริษัทเลย เพราะอาหารที่อร่อยและสวยงาน ต้องดูจากจุดเริ่มต้น ไม่ใช่นำอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว แล้วมาจัดให้สวยงาม"
ความตั้งใจทำงานนี่เอง ที่ทำให้ลูกค้าติดใจ เรียกใช้บริการจาก ขาบ สตูดิโอ มาอย่างยาวนาน เช่น โอบองแปง คาเฟ่ ดีโอโร่ โครงการหลวง และสินค้าส่งออก เช่น แยมชบา และทูน่ากระป๋อง พีบี ฟิชเชอรี่
ฟู้ด สไตลิสต์ อาจดูเหมือนง่าย แต่ถ้าไม่มีความรู้เรื่องอาหาร แม้จะมีรสนิยมทางศิลปะดีแค่ไหน ก็อาจไปไม่ถึงฝั่ง
แต่หากฝีมือปรุงอาหารเลิศรสผสมกับดีไซน์ศิลปะ อนาคตการเป็นฟู้ด สไตลิสต์ ยืนยาว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น