ฤดูกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีกลับมาอีกครั้ง ความสนุกสนานขีดสุดต้องหยุดชะงัก เมื่อธีมดีไซน์คริสต์มาสสิ้นปี ต่อต้านความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อแล้วหันมาหลงใหลกระแส ‘Green Planet’ ช่วยลดโลกร้อนอย่างมีสไตล์
เมื่อการเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสต์มาสของทุกปีถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ตลอดจนสีสันมักมีโทนเขียวแดงเป็นสูตรสำเร็จตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตก หรือตะวันออกที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมรื่นเริงนี้ต่างพยายามสร้างความหวือหวาให้มากขึ้นทุกๆ ครั้ง จนบางครั้งกลับหลงลืมหลักการที่แท้จริงของเทศกาลฤดูหนาวที่คนทั้งโลกให้ความสำคัญ
นั่นคือ การกลับมาสู่รากเหง้า เข้าถึงแก่นความรู้สึกความสุขของครอบครัว เพื่อนพ้อง และคนรอบข้างมากกว่าพุ่งความสนใจไปที่เปลือกนอกความสนุกสนานแบบไร้สติ
“เศรษฐกิจแบบนี้ คนจะคิดมากขึ้นอย่างที่สหรัฐ ในห้างวอลมาร์ท หรือเมซี่เอง ก็ขายสินค้าที่ไม่หวือหวาเหมือนก่อน ความอลังการลดลง ปริมาณสินค้าน้อยลง แต่จะหลากหลายมากขึ้น ชี้ให้เห็นภาพลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาสที่เปลี่ยนแปลงไป”
“สุทธิพงษ์ สุริยะ” ผู้บริหารขาบสไตล์ ผู้ให้บริการและคำปรึกษาด้านการดีไซน์อาหาร เล่าว่า คอนเซปต์ของเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ความสนใจมุ่งที่ภาวะโลกร้อนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งองค์ประกอบของการเฉลิมฉลอง ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การตกแต่งสถานที่ บุคคล และของขวัญ ล้วนตอบสนองและปรับประยุกต์ไปตามกระแสกรีนในทิศทางเดียวกัน
“สิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกำหนดธีมการกินอยู่ อาหารที่นำมาเสิร์ฟต้องเป็นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งเยอะ เพื่อลดปริมาณขยะ ซึ่งมันยังลามไปถึงกลุ่มของขวัญ ที่นำเอาวัสดุเส้นใยธรรมชาติหรือทำจากวัสดุรีไซเคิลมาใช้มากขึ้น”
ภาพรวมที่สะท้อนได้เด่นชัด คือ ปริมาณการบริโภคน้อยลง ลดจำนวนปาร์ตี้ลง และรวมตัวจัดงานด้วยกัน เพื่อกลับมาสู่รูปแบบความเป็นกันเอง มีการซื้อสินค้าผ่านกระบวนการคิดที่ซับซ้อนขึ้น โดยอาศัยศิลปะ ความเรียบง่าย งดงามและรู้สึกดี ส่งผ่านรสนิยมของผู้ให้บวกความประทับใจของผู้รับ
ขาบ-สุทธิพงษ์ จำแนกธีมตามองค์ประกอบสำคัญๆ ที่จะใช้ในเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ให้ฟัง เริ่มจากประเภทอาหารต้องเน้นผักให้มากเข้าไว้ ทั้งสลัดผัก แกงเขียวหวาน ต้มผักต่างๆ หรือผัดผักสีเขียวนานาชนิด เพื่อสะท้อนคอนเซปต์สีเขียวให้ชัดเจน อาจเพิ่มสาระเพื่อสุขภาพลงไป เช่นเมนูปลา ซีฟู้ด ลดปริมาณแป้งเพื่อให้จำกัดปริมาณแคลอรีแล้วใส่ความสนุกสนานลงไปด้วยการชวนแขกรับเชิญให้ลงมือปรุงอาหารร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดงานต้องคำนึงถึงช่วงเวลาในการกินด้วย ซึ่งฟู้ดดีไซเนอร์แนะนำว่า ถ้าเริ่มจัดตั้งแต่ช่วงบ่าย อาจเสิร์ฟเค้กแคลอรีต่ำ กับชาออร์แกนิค ส่วนตอนเย็น ต้องทำให้อยู่ท้องด้วยการเพิ่มแป้งและเนื้อสัตว์เข้าไปได้นิดหน่อย แล้วเปลี่ยนวัฒนธรรมเน้นกินให้เป็นเน้นการพูดคุย
แต่สำหรับนักธุรกิจด้านอาหารแล้ว ควรเพิ่มความสำคัญกับคำว่า “พิเศษ” เช่นน้ำสลัดสูตรพิเศษไม่เหมือนที่อื่น นำสิ่งที่กระจัดกระจายที่คนอื่นละเลย มารวมกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง เช่นอาหารฟิวชั่นฟู้ด เป็นต้น เพื่อให้คนเข้าถึงและสัมผัสได้เร็ว
ส่วนต่อมาก็คือ การตกแต่งสถานที่จัดงานต้องเน้นความสวยงามที่ประสานประโยชน์ใช้สอยอย่างกลมกลืน เช่นแทนที่เราวางแอปเปิลไว้เฉยๆ เจ้าภาพก็ควรเป็นผู้ลงมือประดิษฐ์การ์ดสวยๆ ใส่ชื่อแขกทุกคนมาปักไว้ นอกจากแขกในงานได้กินผลไม้สีเขียวสดแล้ว ยังจดจำเราด้วยความประทับใจไปนานแสนนาน
สำหรับผู้ที่มีสถานที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติอยู่แล้ว ขาบแนะนำว่า ต้องนำสิ่งรอบตัวมาใช้ อาจเลือกดอกไม้สีแดงและขาว ให้ตัดกับสิ่งแวดล้อมหญ้าเขียวขจี ทั้งนี้อย่าลืมให้ความสำคัญกับอายุของดอกไม้ที่นำมาตกแต่งให้สามารถอยู่ได้สักหนึ่งสัปดาห์ โดยสามารถปรึกษากับกูรูด้านไม้ดอก พร้อมกับพิจารณางบประมาณในกระเป๋าเพื่อซื้อดอกไม้หรูๆ มาประดับเพิ่มเติมก็ไม่ผิด
ด้านบุคคลนั้น ผู้จัดงานควรสร้างคอนเซปต์ให้แขกแต่งกายด้วยธีมสีเขียวเป็นหลัก ซึ่งบ่งบอกความเรียบโก้ คลาสสิก และเป็นสีอมตะ แต่อาจสร้างความสดใสด้วยเฉดสีต่างกัน หรืออาจฉีกแนวใช้สีขาว ครีม ชมพูหวานแหวว เพื่อให้อิสระทางความคิด และใส่จินตนาการกันเต็มที่ สนองวิถีความสนุกสนานเต็มเปี่ยม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาหาร กล่าวต่อถึงองค์ประกอบสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ คือ ของขวัญว่า มันคือธรรมเนียมของเทศกาลเพื่อให้มูลค่าทางจิตใจโดยใส่คำว่า “ดีไซน์” ลงไปด้วย ซึ่งเขาแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้วยตนเองเป็นอันดับแรก ตามด้วยวิธีการซื้อหาตามปกตินิยมของคนทั่วไป แต่ไม่เหมือนใคร
“หากคุณเป็นคนหัวศิลป์มากๆ อาจทำของขวัญเองดีที่สุด ถ้าชอบทำเบเกอรี่ ก็ทำเค้กใส่กล่องกระดาษประดิษฐ์สวยๆ หากชอบถ่ายภาพหรือวาดรูป ควรสร้างชิ้นงานมาสเตอร์พีชไปเลย แต่หากชอบซื้อมากกว่า ไม่จำเป็นต้องให้ของที่มีมูลค่าสูง เพราะของที่เกินความจำเป็น คือของที่จะทำให้เกิดขยะล้นโลก จึงต้องใช้สมองกันสักหน่อย สร้างstory ให้กับของขวัญหรือถ้าเป็นสินค้าแฮนด์เมดดีไซน์สากลก็จะถูกใจผู้รับ ให้นึกถึงเราเป็นพิเศษก็เพียงพอแล้ว”
สุทธิพงษ์ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อเราใช้เทคโนโลยีน้อยลง เราจะใส่ใจกับรายละเอียดกับชีวิตและลงมือทำทุกอย่างด้วยตนเองมากขึ้น การย้อนกลับไปสู่ธรรมชาติทำให้เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองไม่ใช่เพียงความสนุกสนานตามกระแสเท่านั้น แต่มันจะยั่งยืนและมีเสน่ห์ไม่รู้ลืม
เรื่องโดย ชฎาพร นาวัลย์
Chadaporn_n @ nationgroup.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น