การอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทไหนล้วนส่งผลหล่อหลอมให้ผู้อ่านมีมุมมองแง่คิดและจินตนาการที่บ่งบอกได้ถึงความเป็นตัวตนของคนผู้นั้นได้พอสมควร คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ หรือคุณขาบนามที่คนในแวดวงตำรับตำราอาหารรู้จักกันเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับคุณขาบที่ชอบอ่านหนังสืออาหารเป็นชีวิตจิตใจ จนกระทั่ง ณ วันนี้คุณขาบกลายเป็นผู้รวบรวมตำราอาหารเวียดนามที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมานานเป็นตำราอาหารเวียดนามง่าย ๆสไตล์ของเขา ในช่วงสมัยเป็นเด็กคุณขาบย้อนเล่าให้ฟังถึงการเป็นคนรักการอ่านให้ฟังว่า...
"ผมเป็นคนจังหวัดหนองคาย และบ้านผมอยู่ต่างอำเภอ เวลามาเรียนหนังสือก็จะเข้ามาเรียนในตัวเมือง มาอยู่หอพัก เสาร์-อาทิตย์กลับบ้านเวลาว่างของผมก็จะมาอยู่ที่ห้องสมุดประชาชน เพราะไม่รู้จะทำอะไร ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ตอนเย็นไม่มีอะไรทำก็เข้าห้องสมุดโรงเรียน หนังสือในห้องสมุดผมจะอ่านเกือบหมดทุกเล่ม รายการยืมหนังสือจะมีชื่อผมยืมหนังสือเกือบทุกเล่มก็ว่าได้ จนตอนหลังผมไปทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุด คอยรับ-ส่งหนังสือ และอาศัยได้อ่านหนังสือไปด้วย
หนังสือที่ผมอ่านส่วนใหญ่เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ที่จำได้ว่าเรื่องที่อ่านแล้วประทับใจคือเรื่อง "มอม" ของ ม.ร.ว .คึกฤทธิ์ ปราโมช ชอบมาก อีกเรื่องคือ "สุดแต่ใจจะไขว่คว้า" ผลงานของ "โบตั๋น" เรื่อง "มอม" ชอบเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความผูกพันระหว่างคนกับหมา เป็นเรื่องของหมาที่มีความจงรักภักดีกับคน ส่วนเรื่อง "สุดแต่ใจจะไขว่คว้า" ก็เป็นเรื่องของความรักอีกเช่นกัน แต่เป็นความรักที่พ่อแม่ให้แก่ลูกไม่เท่ากัน เป็นเรื่องที่ให้มุมมองและแง่คิดที่ดี เวลาที่ผมอ่านหนังสือ สิ่งที่ได้ก็คือ หนังสือเล่มนั้น ๆต้องให้แง่คิด หลังจากสองเล่มนี้ผมก็อ่านหลายเรื่องเยอะแยะมาก หลังจากนั้นผมก็ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแนวนี้เท่าไรนัก เพราะชีวิตเริ่มผกผัน ย้อนไปเมื่อตอนเป็นเด็กที่เราช่วยแม่ทำกับข้าวคอยเป็นลูกมือให้กับนั้น ไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือให้เราทำมาหากินได้ ผมไม่เคยคิดว่าจะมาสนใจหนังสือเกี่ยวกับอาหาร ด้วยความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับการทำอาหารและเป็นความสนใจต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้ระยะหลังๆ
ผมอ่านแต่หนังสือเกี่ยวกับอาหาร สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสืออาหารก็คือผมเป็นคนที่มองภาพกว้างนะ ตำราอาหารของแต่ละชาตินั้น ผมมองว่าก่อนที่จะมาเป็นอาหาร และก่อนที่เราจะหยิบใส่ปากมันจะมีวัฒนธรรมว่าทำไม่อาหารชนิดนี้ถึงชื่อนี้ เพราะอะไร ผมชอบศึกษาเรื่องตรงนี้มากกว่าที่จะเป็นสูตร วิธีทำ ผมถึงไปทำสารคดีทำเกี่ยวกับเรื่องอาหารตามเมืองต่าง ๆเพราะมันมีสารคดีความรู้ใส่เข้าไป ดังนั้นผมจะไม่อ่านหนังสืออาหารเฉพาะแค่ตำรับตำราเท่านั้น อีกอยากผมชอบสะสมหนังสืออาหาร เวลาไปต่างประเทศก็จะขนซื้อมาอย่างผมชอบเวียดนามผมก็จะมีหนังสืออาหารเวียดนามทั่วทุกมุมโลก เพราะผมอยากรู้ว่าแต่ละคนจะเขียนอย่างไร สิ่งที่ได้ในเรื่องของอาหารคือเขาปูความเป็นมาเป็นไปของอาหารก่อนในภาพรวม ถ้าเป็นหนังสือฝรั่งเขาจะลงลึกไปถึงยกตัวอย่างเช่นถ้าทำอาหารเวียดนาม ถ้าอยากให้เห็นในเรื่องของการสัมผัสอารมณ์เขาก็จะมีภาพถ่ายสวย ๆประกอบซึ่งมันได้ทั้งเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก การสัมผัส ก่อนที่จะเข้าไปสู่สูตรอาหาร ซึ่งคนอ่านนอกจากจะสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้แล้วยังจะได้ความรู้สึกที่เหมือนเราได้อยู่ประเทศนั้น ๆ หนังสือสไตล์ที่ผมชอบถ้าเป็นหนังสือฝรั่งผมชอบก็มี donna hay ชอบมากเพราะว่าเขาจะนำเสนออาหารที่เรียบแต่ว่าดูโก้ แต่ว่ามีรสนิยม ส่วนหนังสือที่เป็นแมกกาซีนที่ดูบ่อยคือ VOGUE ENTERTAINING เป็นหนังสือสวย มีดีไซน์ คนเวลาอ่านหนังสือเขาจะได้ความอิ่มเอิบทางอารมณ์ ทางตา สูตรอาหารนั้นเราได้อยู่แล้ว คือได้รสนิยมทั้งในการอ่านและการบริโภค ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก
เวลาที่ผมเดินทางไปไหนผมก็จะต้องพกหนังสือติดตัวไปด้วยเสมอ เช่นที่กำลังจะไปลาว ผมก็จะมีหนังสือ Simple Laotian Cooking เขียนโดย Penn Hongthong เนื้อหาของเล่มนี้จะเป็นการทำอาหารลาวทั้งเล่ม เป็นการเขียนเล่าว่าอาหารลาวมีวิวัฒนาการเป็นอย่างไร "
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียนแนวไหนประเภทไหน ล้วนแต่มีรากฐานมาจากการอ่านหนังสือ อย่างที่คุณขาบกล่าวไว้ตั้งแต่แรกว่า - การอ่านคือการได้เสพสิ่งที่เราไม่รู้ ได้ทั้งจินตนาการ และภาพที่เรายังไม่เคยเห็น
เนื้อหาจาก http://www.praphansarn.com/new/c_link/detail.asp?ID=106
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น